ชื่อบทความเดิม 'ปฏิกิริยาต่อบทความพรเพ็ญ: ปัญหาการไร้หลักการของนักสิทธิมนุษยชนไทย'
ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ
บทความนี้เป็นการสะท้อนมุมมองอีกมุมในฐานะผู้ปฎิบัติงานทางด้านสิทธิมนุษยชนต่อบทความ “จุดยืนที่ลำเอียงของนักสิทธิมนุษยชน” ของคุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
โดยผู้เขียนมีความคาดหวังว่าบทความนี้จะนำไปสู่การถกเถียงในหมู่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนไทย[i] ในการตั้งคำถามของวิธีการทำงาน เพื่อที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนในวงกว้างเพื่อที่การทำงานของนักสิทธิฯ จะได้มีความเป็นสากลและเป็นการทำงานภายใต้หลักการมากขึ้น
-----
“[All] human rights and fundamental freedoms […] should be promoted and implemented in a fair and equitable manner, without prejudice to the implementation of each of those rights and freedoms.”
- UN Declaration on Human Rights Defenders, 9 December 1998
ข้อความข้างต้นเป็นข้อความส่วนหนึ่งของปฎิญญาที่เรียกกันอย่างหลวม ๆ ว่าปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders)[ii] ซึ่งเป็นหลักการสากลของนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าใจร่วมกันว่า “หลักการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานควรต้องได้รับการสนับสนุนและปฏิบัติตามอย่างถูกต้องและยุติธรรม โดยปราศจากการก่อให้เกิดความเสียหายต่อการทำให้เกิดผลในสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ของประชาชน”
ข้อความนี้ ไม่ใช่ข้อความใหม่อะไร แต่เป็นข้อความที่เข้าใจกันว่าเป็นพื้นฐานหลักการสากลของสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ สิทธิมนุษยชนต้องได้รับการส่งเสริมและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นหลักการที่สำคัญของนักสิทธิมนุษยชน คือ นักสิทธิมนุษยชนต้อง “ไม่มีความลำเอียง” (Impartiality)[iii] บนหลักการที่ชัดเจน และต้องไม่มี “ความเป็นกลาง” (neutral) นักสิทธิมนุษยชนต้องเลือกข้างอย่างชัดเจน แต่การเลือกข้างที่ว่า คือ การยืนหยัดอยู่กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน (human rights victims) โดยไม่เลือกว่าคนบุคคลนั้นเป็นรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงาน คนไร้รัฐ ฯลฯ ดังนั้นหลักการสิทธิมนุษยชนจึงหลักการที่เป็นสากลและไม่อิงกับแนวความคิดหรือกลุ่มทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น (non-partisan)
เราสามารถพูดได้ว่า “ความเป็นกลาง” สำหรับนักสิทธิมนุษยชนไม่สามารถมีอยู่ได้ เพราะความเป็นกลาง คือ การอยู่ระหว่างกลางในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ทำอะไร เช่น ไม่ดำเนินการอะไรเวลาแรงงานข้ามชาติถูกนายจ้างทำร้ายหรือกดขี่ไม่จ่ายค่าแรง ดังนั้นความเป็นกลางนำมาใช้ไม่ได้สำหรับการทำงานทางด้านสิทธิไม่ได้ เพราะความเป็นกลางคือการไม่ทำอะไรเลย (Inaction)
ดังนั้นการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนจึงแตกต่างกับนักกิจกรรมทางการเมือง (Political activists) หรือนักการเมืองได้ เนื่องจากสองกลุ่มนี้มีเป้าหมายชัดเจนในการต่อต้านหรือสนับสนุนอะไรบางอย่าง และบางครั้งอาจจะยอมรับการประนีประนอมในหลักการได้
แต่หลักการของนักสิทธิมนุษยชนนั้นยึดหลักเกณฑ์อย่างเข้มแข็งและต้องไม่มีความลำเอียงอย่างชัดเจน คือ การทำงานต้องเป็นไปตามหลักการชัดเจนและเป็นหลักการที่ประนีประนอมไม่ได้ (Non-negotiation)
สองหลักการที่ว่านี้ คือ การยอมรับความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน คือ ต้องอยู่บนพื้นฐานของปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ที่พูดถึงหลักสากลของสิทธิมนุษยชนว่าประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง กลุ่มเพศสภาพ หรือ กลุ่มไร้สัญชาติ ต้องได้รับสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยรวมถึงจุดยืนทางการเมืองแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาต้องมีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน
ดังนั้นการที่นักสิทธิมนุษยชนบางประเทศหรือบางชุมชน เลือกที่จะปกป้องสิทธิของผู้ชายและผู้หญิงแต่มองว่ากลุ่มเพศสภาพไม่ควรจะได้รับการเคารพสิทธิก็จะไม่ได้รับการยอมรับว่าทำงานในฐานะนักสิทธิมนุษยชน หรือในกรณีอินเดียที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มไม่ยอมรับที่จะคุ้มครองสิทธิของคนชนชั้นจัณฑาล (Dalit) ก็จะได้รับการประนามว่าไม่ได้ทำงานภายใต้หลักการสากล มีความลำเอียงและไม่ควรพูดว่าตนเองเป็น “นักสิทธิมนุษยชน” ส่วนหลักการที่สอง คือ การทำงานของนักสิทธิมนุษยชนต้องเป็นการปฎิบัติงานอย่างสันติและต้องต่อต้านการใช้ความรุนแรง
ย้อนกลับกรณีไทย
ในกรณีที่เกิดขึ้นในไทย แม้ว่าที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่านักสิทธิฯ ควรจะมีความเป็นกลางหรือไม่ หรือไม่ควรจะเป็นกลาง ชี้ให้เห็นว่า นอกจากประเทศไทยยังยึดติดกับข้อถกเถียงที่ล้าหลังแล้ว และยังไม่เข้าใจว่านักสิทธิฯ ต้องไม่มีความเป็นกลาง แต่ต้อง “ไม่มีความลำเอียง” และยึดการทำงานตามหลักการของสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็งต่างหาก
ในปลายทศวรรษที่ 1970-80 ขบวนการนักสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์มีการถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหว โดยในระยะนั้นขบวนการสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์มีความเกี่ยวโยงกันกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines) เป็นอย่างมาก โดยข้อถกเถียงในช่วงนั้นกลุ่ม Rejectionists ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ มาก มองว่าหลักการสิทธิมนุษยชนสามารถบังคับใช้กับประชาชนเท่านั้น แต่การละเมิดสิทธิเจ้าหน้าที่รัฐหรือตัวแทนของรัฐโดยกลุ่มติดอาวุธของพรรคฯ จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมุมมองที่เลือกปฎิบัติ (discrimination)
ในอีกด้านหนึ่งกลุ่ม Re-affirm มองว่าสิทธิมนุษยชนและการเคารพสิทธิมนุษยชน ต้องใช้กับทุกคนไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน หรือกลุ่มติดอาวุธของรัฐ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักสิทธิมนุษยชนไทยจะได้รับการประนามหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่นักสิทธิมนุษยชนไทยเลือกที่จะประณาม “รัฐบาล” แต่ฝ่ายเดียวในกรณีสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยไม่ประณามกลุ่มผู้ก่อการหรือกลุ่มติดอาวุธของฝ่ายขบวนการ ซึ่งแม้ว่าระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มขบวนการจะมีความรุนแรงในระดับที่เท่ากันหรือสูงกว่าของรัฐ เช่น การตัดหัวเหยื่อ การเผาศพเหยื่อ (อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้เริ่มออกแถลงการณ์ประณามทั้งสองฝ่ายแล้ว)
การออกแถลงการณ์ในส่วนนี้จะมีความแตกต่างจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลที่เจนจัดในเวทีและในหลักการไม่ลำเอียงอย่างชัดเจน อย่างเช่น องค์กรฮิวแมนด์ไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) หรือแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นเนล สำนักงานใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ (Amnesty International) ซึ่งเลือกที่จะประนามผู้กระทำความผิดทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายรัฐ และ ฝ่ายผู้ก่อการ[iv]
เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการถกเถียงหรือการสร้างวาทกรรม (Discourse) ทางด้านสิทธิมนุษยชนยังมีการมองว่ารัฐเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แต่ไม่ได้มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในบทบาทของกลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state actor groups) เช่น กลุ่มทุนข้ามชาติ หรือ กลุ่มติดอาวุธว่าเป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ปฎิเสธว่าความรับผิดชอบหลักในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
มุมมองกรณีหลังทักษิณ รัฐประหาร และวิกฤติการเมือง
การที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น กรณีการฆาตกรรมหมู่ที่ตากใบ สงครามยาเสพติด 2,500 ศพ หรือกรณีอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้แต่ยอมรับไม่ได้ที่นักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากเปลี่ยนไปผันตัวไปเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่เริ่มมี “ความลำเอียง” จนยอมที่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนระบอบทักษิณได้โดยไม่มีการตั้งคำถาม
หลังจากก่อการรัฐประหาร การที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายเสน่ห์ จามริกออกมายอมรับรัฐประหารว่า “ยอมรับได้” นับว่าเป็นการถอยกลับของสถานะสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งกรณีได้รวมถึงการที่องค์กรต่าง ๆ ไม่มีการออกแถลงการณ์ประนามการรัฐประหาร หรือการที่ไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาประณามคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) ได้คุมขังอดีตรัฐมนตรีและคนใกล้ชิดของอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นระยะเวลามากกว่ามาตรฐานของหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการคุมขัง ซึ่งการละเมิดสิทธิฯ ในส่วนนี้ต้องรอจนกว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคอย่าง Asian Centre for Human Rights ที่ประจำอยู่ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียจะต้องตั้งคำถามก่อนที่องค์กรสิทธิฯ ไทยจะตั้งคำถามกับกรณีนี้
หลังจากการเลือกตั้ง กรณีการปะทะกันของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เห็นได้ชัดว่ากลุ่มองค์กรสิทธิฯ มีความลำเอียงอย่างชัดเจน[v]
บทบาทขององค์กรสิทธิฯ คือ ต้องประนามบุคคลหรือกลุ่มที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาต่าง ๆ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ
องค์กรสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่กลับมีการประณามเพียงฝ่าย นปก. โดยไม่มีการประนามฝ่ายพธม. แม้ว่าการกระทำของพันธมิตรฯ มีความรุนแรง มีการใช้อาวุธ และรวมถึงการบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถ้าเราย้อนกลับไปเราจะเห็นว่ากลุ่มนปก. ในกรณีที่โดนตำรวจสลายการชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์ไม่ได้รับการคุ้มครองในระดับเดียวกับกับที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับเมือเทียบกับกรณีที่ตำรวจพยายามจะสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล แม้ว่าการชุมนุมของนปก.จะสามารถอธิบายได้ว่าเป็นการชุมนุมตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนมากกว่าเนื่องจากเป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ แต่กรณีพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมในพื้นที่ของราชการ และขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้สิทธิการชุมนุมอย่างสันติก็ต่อเมือสิทธินี้ไม่ไปรุกรานหรือทำร้ายสิทธิของผู้อื่น[vi]
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอีกครั้งในการปะทะกันเมือวานนี้ (วันที่ 7 ตุลาคม) ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ความลำเอียงในการไม่ประณามพันธมิตรยังคงอยู่อย่างมาก โดยในแถลงการณ์ส่วนใหญ่ไม่มีการประณามพันธมิตรเลยหรือพยายามในภาษาในการซ้อนความลำเอียง เช่น เรียกร้องให้พันธมิตรปกป้องประชาชนแต่ไม่ประณามพันธมิตรโดยตรง ทั้ง ๆ ที่มีรายงานออกมาอย่างชัดเจนว่าผู้ชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรุนแรง เช่น กรณีการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นำไปสู่การบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่กว่าสิบนาย การใช้อาวุธปืนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสามนาย หรือ การที่ผู้ชุมนุมเอาปลายธงแทงทะลุปอดเจ้าหน้าที่ตำรวจจนบาดเจ็บสาหัส ฯลฯ
บทสรุป
องค์กรสิทธิมนุษยชนไทยในขณะนี้ไม่เพียงแต่กำลังสร้างบรรทัดฐาน (Precedent) ที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรสิทธิฯ มีความลำเอียง และไม่ได้ทำงานบนหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ในขณะนี้องค์กรสิทธิฯได้ผันตัวเป็นองค์กรที่มีความลำเอียง และเลือกที่จะประนามกลุ่มที่ตนเองหรือองค์กรตัวเองเห็นว่าทำถูก โดยที่เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับไม่ได้รับสิทธิที่จะเยียวยา
นอกจากนี้ องค์กรสิทธิฯ ไทยกำลังสร้างปัญหาและผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการคาดการณ์ คือ องค์กรสิทธิกำลังยอมรับการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังทำลายสิทธิในการการชุมนุมอย่างสันติ (Rights to peaceful assembly) โดยอ้างเอาสิทธิในส่วนนี้มาใช้อย่างผิด ๆ อย่างไร้ความรับผิดชอบ
ดังนั้นองค์กรสิทธิฯ ต้องมีการคิดและไตร่ตรองอย่างหนักและให้ชัดเจนว่าองค์กรสิทธิจะยอมผันตัวเองและละทิ้งหลักการในการทำงานของตัวเองหรือไม่ ซึ่งการยอมให้พันธมิตรฯ ใช้ข้ออ้างเรื่องสิทธิในส่วนนี้มาใช้ในการชุมนุมอย่างผิดหลักสิทธิมนุษยชน คือ การแอบอ้าง (Abuse) ว่าการชุมนุมที่ใช้อาวุธและไม่สันติ กลายเป็นการชุมนุมที่สันติได้
ข้ออ้างนี้อาจจะกลายไปหอกที่กลับมาแทงองค์กรสิทธิฯ ได้ในอนาคต รัฐบาลพลังประชาชนหรือรัฐบาลอื่น ๆ ในอนาคตอาจจะใช้ข้ออ้างนี้ในการลดความชอบธรรมสิทธิการชุมนุม (ที่เป็นสันติจริง ๆ) ลงไปได้ (เช่น อ้างว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะกรณีใด เป็นการชุมนุมทีมีความรุนแรง โดยอธิบายว่าองค์กรสิทธิฯ โกหกว่าการชุมนุมที่ไม่สันติในอดีตคือตอนนี้เป็นการชุมนุมที่สันติ)
---
[i] ผู้เขียนขอเรียกคนที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนว่ากลุ่มนักสิทธิมนุษยชนไทย แทนการเรียกว่าขบวนการสิทธิมนุษยชน (human rights movement) เพราะผู้เขียนโดยส่วนตัวมองว่าในประเทศไทยไม่มีขบวนการสิทธิมนุษยชนดังที่มีอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเพราะการล้มเหลวในการขยายวงคนทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนไปในวงกว้าง ซึ่งผู้เขียนไม่ขออภิปรายในส่วนนี้
[ii] รับรองในมติที่ 53/144 ของสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1998
[iii] ผู้เขียนมีปัญหาในการแปลว่า impartiality ในคำ ๆ เดียว คือ ความไม่ลำเอียง ซึ่งผู้เขียนมองว่า impartiality สำหรับนักสิทธิมนุษยชน น่าจะหมายถึง “ความเป็นธรรมอย่างมีหลักการตามกฎกติการสิทธิมนุษยชนสากล” ซึ่งรวมถึงว่าบุคคลทุกบุคคลไม่ว่าจะเป็นรัฐ ประชาชน กลุ่มทุน บริษัท กลุ่มติดอาวุธ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเท่ากันหมด แม้ว่ารัฐจะเป็นผู้ที่ต้องมีความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด (sole responsibility) โดยที่หลักสิทธิมนุษยชนที่ว่า คือ ทางสิทธิทางด้านพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (civil, political, economic, social, and cultural rights)
[iv] ดูรายงานการตรวจสอบของฮิวแมนด์ไรท์วอทช์, “No one is safe: Insurgent Attacks on Civilians in Thailand’s Southern Border Provinces”, กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มขบวนการ ซึ่งนับว่าเป็นรายงานแรกที่มีการประณามกลุ่มขบวนการในภาคใต้อย่างชัดเจนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชน ดูที่ http://www.hrw.org/reports/2007/Thailand0807
[v] ผู้เขียนได้ตั้งคำถามนี้ใน บท OP-ED, “Views on Black Tuesday: Civil Society Groups biased in blaming UDD alone”, ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในวันที่ 5 กันยายน 2551 หลังจากมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มนปก., ดูได้ที่ http://www.bangkokpost.com/050908_News/05Sep2008_news21.php
[vi] ดูมาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ว่า, “The rights of peaceful assembly shall be recognized. No restrictions may be placed on the exercise of this right [except for] the protection of the rights and freedoms of others”.