Sunday, August 23, 2009

อนาคตของขบวนการเสื้อแดง : บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินเกมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในนามของ "คนเสื้อแดง" ในช่วงสงกรานต์ได้สร้างความเสียหายทางชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงอย่างใหญ่หลวง

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเศร้า เนื่องจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติในระดับหนึ่ง แต่หลังจากสงกรานต์ ภาพลักษณ์ที่ปรากฏทำให้สังคมมีความเข้าใจว่า คนเสื้อแดงเป็นขบวนการที่ใช้ความรุนแรงตามที่ได้กระพือมาตลอด โดยกลุ่มการเมืองสายพันธมิตร พร้อมกับการสนับสนุนจากสื่อกระแสหลักที่มีความเบี่ยงเบนทางการเมืองอยู่แล้ว

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ผู้เขียนจึงอยากเสนอแนะไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดง (ซึ่งรวมถึง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มีบทบาทเป็นแกนนำคนเสื้อแดงด้วย) ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ถ้าหากคนเสื้อแดงต้องการให้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Non-violence) ตามที่ได้พูดมา และต้องการทำให้การเคลื่อนไหวมีความแตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปีที่แล้วที่ใช้ความรุนแรง อาทิเช่น การทำร้ายตำรวจ การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ชื่อในขณะนั้น) รวมทั้งการยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ คนเสื้อแดงต้องประกาศและต้องทำให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมที่สันติ ปราศจากอาวุธ ดำเนินการตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแท้จริง เพราะการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง จะทำให้คนเสื้อแดงถูกประณามจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และสื่อสารมวลชนกระแสหลักมากกว่าเดิม

ประเด็นที่สอง คนเสื้อแดงต้องไม่ปกป้องบุคคลที่มีบทบาทในการใช้ความรุนแรงจริงๆ อาทิเช่น บุคคลที่ทุบรถ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในกระทรวงมหาดไทย บุคคลที่นำรถก๊าซเอ็นจีวีมาจอดที่หน้าแฟลตดินแดง หรือบุคคลที่เผารถบัส โดยต้องมีการสนับสนุนให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย คนเสื้อแดงไม่ควรปล่อยให้ขบวนการของตนเองมีส่วนร่วมกับการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วยการปกป้องคนเหล่านี้ เนื่องจากจะทำให้การเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับพันธมิตรที่ใช้ความรุนแรงเช่นกันหมดความชอบธรรมไปทันที

ประเด็นที่สาม เราต้องไม่ปฏิเสธว่าบทบาทของสื่อสารมวลชนกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ (เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้จำนวนมากที่สุด) มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญตลอดมา ดูได้จากบทบาทของสื่อสารมวลชนในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงพฤษภาทมิฬ ซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จ แตกต่างจากการฆาตกรรมหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนไม่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชน กระทั่งนำไปสู่การที่สังคมให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังนั้น คนเสื้อแดงต้องมียุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมมือกับสื่อสารมวลชนกระแสหลักมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนความคิด โดยต้องเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว อาทิเช่น อาจจะมีบางปีกของ นปช.ที่ทำงานทางความคิดกับสื่อกระแสหลักโดยตรง เป็นต้น

ประเด็นที่สี่ คนเสื้อแดงต้องต่อสู้ด้วยความจริง ไม่ใช้การโกหก หรือการสร้างเรื่องขึ้นมา ผู้เขียนเห็นว่าการพูดถึงคนตายจากการเข้าสลายการชุมนุมโดยทหารต้องมีการตรวจสอบอย่างแท้จริงก่อนที่จะออกมาพูด เนื่องจากการพูดว่ามีคนตาย 6 คนบ้าง 10 คน หรือ 60 คนบ้าง จะเป็นผลเสียกับคนเสื้อแดงในประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือ (Credibility) เนื่องจากไม่ได้มีข้อมูลอย่างชัดเจนในการตอบคำถามกับสังคมว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่และมีหลักฐานอยู่ที่ไหน

โดยส่วนตัว ผู้เขียนตั้งคำถามกับการเสียชีวิตมาก เพราะคิดว่าถ้ามีการเสียชีวิตจริง นักข่าวต่างประเทศและนักข่าวพลเมืองต้องมีภาพมาเสนอกับสังคมแน่นอน ดังนั้น คนเสื้อแดงต้องต่อสู้โดยใช้ข้อมูลจริง เหตุการณ์จริงที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน

การเคลื่อนไหวเรื่องการไม่ชอบธรรมของการสลายการชุมนุม อาจจะเป็นประเด็นที่เริ่มรณรงค์ได้โดยดูจากการที่ทหารเข้าทำร้ายหรือซ้อมผู้ชุมนุม และใช้ความรุนแรงเกินกว่าความจำเป็น (Excessive use of force) ตามที่ได้มีการแสดงภาพวีดิทัศน์ในการประชุมรัฐสภาโดย ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจใช้ทหารสลายการชุมนุม โดยไม่ได้ใช้ตำรวจ ทั้งๆ ที่ตำรวจฝึกมาดีกว่า

ประเด็นที่ห้า คนเสื้อแดงต้องคิดถึงการลดบทบาทของ ทักษิณ ชินวัตร และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจากการเป็นแกนนำหลักการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง โดยควรจะดึงเอานักกิจกรรม นักสหภาพแรงงาน นักวิชาการ และบุคคลอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางสาขาอาชีพมามีบทบาทนำมากขึ้น การเอาทักษิณ มาอยู่ใกล้ชิดกับคนเสื้อแดงมากเกินไป อาจทำให้ชนชั้นกลาง นักวิชาการ นักกิจกรรมจำนวนมาก ที่ไม่พอใจกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารกับกระบวนการทางการเมืองต่างๆ ยอมรับไม่ได้ที่จะต้องต่อสู้เพื่อทักษิณ

แม้ว่าในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีนโยบายที่สนับสนุนสวัสดิการของคนจนจำนวนมาก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้ ดังที่ดูได้จากการคุกคามสื่อและองค์กรอิสระ กรณีการนำนโยบายสงครามยาเสพติดมาใช้ นำไปสู่การทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ศพ โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ศพ รวมถึงการฆาตกรรมนักสิทธิมนุษยชนมากกว่า 20 คนในช่วงรัฐบาลทักษิณ และการปฏิเสธที่จะดำเนินการนำคนผิดมาลงโทษ

ท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ต้องไม่ให้ความสำคัญแค่ผลกระทบจากการรัฐประหารกับพรรคไทยรักไทยเก่า หรือการต่อต้านรัฐบาลชุดนี้แบบหัวชนฝาเพียงอย่างเดียว ถ้าคนเสื้อแดงต้องการให้การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จ คนเสื้อแดงต้องมีข้อเสนอแนะอย่างชัดเจนกับสังคมว่าจะนำพาสังคมไปทางไหนในระยะยาว

ขบวนการคนเสื้อแดงต้องสามารถอธิบายให้สังคมเห็นว่า การรัฐประหาร การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 และการเพิ่มบทบาทของตุลาการ มีผลกระทบอะไรกับพื้นที่ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในปัจจุบัน การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญต้องมีการเรียกร้องที่กว้างขวาง โดยให้มีการเพิ่มบทบาทกับประชาชนมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ โดยทำความเข้าใจกับประชาชนว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ทำให้การเลือกตั้งวุฒิสภาครึ่งหนึ่งหมดไป และลดบทบาทภาคประชาชนในการสรรหาองค์กรอิสระ อาทิเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นอกจากนี้ คนเสื้อแดงต้องทำงานในประเด็นอื่นๆ ที่ภาคประชาชนให้ความสนใจด้วย เพื่อสร้างแนวร่วม ยกตัวอย่างเช่น เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่ลดพื้นที่การแสดงสิทธิเสรีภาพ อาทิเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าทัศนะวิจารณ์, วันที่ 28 เมษายน 2552

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20090428/

No comments: