Monday, August 24, 2009

'พระนเรศวรมหาราช' เมื่อไหร่ 'ประวัติศาสตร์ชาตินิยม' จะหมดไป


เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปช่วยอบรมน้อง ๆ จากโรงเรียนมัธยมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่สวนรถไฟ หลังจากได้รับการชวนจากเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่องค์การนิรโทษกรรมสากล (ประเทศไทย) ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยมีกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่ทางผู้จัดได้คิดขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างมุมมองทางสิทธิมนุษยชนให้กับน้อง ๆ

โดยผมได้ประจำฐานอยู่ที่ฐานเรือมนุษย์ ซึ่งเป็นเกมส์ที่องค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนจนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อย่างใช้อย่างบ่อยครั้ง ในการอบรมประชาชนทั่ว ๆ ไป ซึ่งเกมส์นี้จะอธิบายสถานการณ์อย่างหนึ่งว่า ขณะที่เรือลำหนึ่งกำลังนำผู้โดยสารจำนวนแปดคน ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลากหลายอาชีพ หลายอายุ สถานภาพที่ไม่เหมือนกันลงเรือ (เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วยโรคเอดส์ ฝรั่ง คนงาน นักการเมือง) และเรือลำนี้กำลังจม เราจะตัดสินให้ใครลงแพ เพื่อให้รอดชีวิต (ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะมีคำอธิบายว่า สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกันทุกคนรักชีวิตเหมือนกันและมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันโดยที่ไม่มีใครสามารถเอาสิ่งนี้จากเราไปได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน)

ผมกับพี่ที่เป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคิดอะไรสนุก ๆ ขึ้นมา เลยตัดสินใจรวม "ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่หลบนี้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" เข้าไปด้วย เพื่อทำให้สถานการณ์มีความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อถามน้อง ๆ หน้าตาบ้องแบ้วคนหนึ่งว่า "ควรจะให้ใครอยู่บนเรือ" ผมได้คำตอบคล้าย ๆ กันจากน้อง ๆ หลาย ๆ คนว่าให้ "พม่าอยู่บนเรือ เพราะหลบนี้เข้าเมืองผิดกฎหมายบ้าง" หรือ "เพราะพม่ามาบุกตีกรุงศรีอยุธยา" แต่ "ฝรั่ง" ไม่เคยมาบุกประเทศไทย

ก่อนที่ผมจะอธิบายให้น้อง ๆ ฟังไป

"ว่าสถานการณ์ในประเทศพม่า ส่งผลให้ประชาชนชาวพม่าจำนวนหลายล้านคนต้องหนีภัยสงครามเข้ามาในเมืองไทยและว่ามันเป็นสิทธิของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะอยากมีชีวิตและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องให้ความช่วยเหลือคนพวกนี้ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีต่อกติกาต่าง ๆ กับสหประชาชาติ"

ผมก็ถามน้อง ๆ พวกนี้กลับไปว่า "ทำไมถึงคิดเช่นนั้น" น้อง ๆ ก็ตอบกลับมาทันควัน โดยไม่ต้องถามว่า "พวกพม่าบุกกรุงศรีอยุธยา เผากรุงศรีอยุธยา และฆ่าคนไปเยอะ เหมือนในหนังพระนเรศวร"



ครับ...

กี่รุ่นถึงกี่รุ่น นักเรียน เยาวชนไทยก็มีอคติต่อประชาชนพม่า ผ่านการศึกษา "ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย" ที่ได้รับการผลิตซ้ำ ผลิตซากอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหลัง ๆ นี้มีภาพยนตร์ชาตินิยมไม่ว่าจะเป็นบางระจัน ศรีสุริโยไท จนถึง พระนเรศวรมหาราชที่กำลังทำเงินถล่มถลายตอนนี้ ก็เป็นเครื่องยึดถือได้ว่า มุมมองของคนไทยต่อประชาชนพม่าก็จะยังมีอคติ ความเกลียดชังอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะที่ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นักโบราณคดี ก็ต้องยอมรับในประวัติศาสตร์ที่ว่ากันว่า พม่าได้บุกมาเผากรุงศรีอยุธยา

แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ควรมีอคติมากเกินไปโดยเฉพาะกับประชาชนพม่าและผูกติดกับเรื่องนั้นมากเกินไป

และไม่ควรมองประวัติศาสตร์ด้านเดียว...


...เพราะในขณะเดียวกันกองทัพสยามก็ถูกเปรียบเทียบโดยประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็น "จักรวรรดินิยมเล็ก ๆ" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากหลาย ๆ กรณีผ่านการนำทหารไปบุกเผากรุงเวียงจันทร์ เผาวัดทั่วนครเวียงจันทร์ และเกณท์แรงงานและเชลยศึกลาวมาขุดคลองแสนแสบ การนำทหารไปเผานครเสียบเรียบของกัมพูชา เข้าตีเมืองปัตตานีดารุซารัม ซึ่ง "อาชญากรรม" เหล่านี้ก็มีความเป็นใกล้เคียงกับสถานการณ์ยุคใกล้มากกว่า เพราะเกิดขึ้นในสมัยการสร้างชาติ "ไทย" ในสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์

ในทศวรรษที่ 1970 ประเทศไทยและ "ทหารกล้าของพระนเรศวร" ก็มีส่วนสำคัญจนถึงการส่งทหารไปรบกับกองทัพของประชาชนชาวเวียดนามและ ใน "สงครามลับ" (secret war) กับกองทัพประเทศลาวในลาว และเป็นยอมใช้ฐานทัพไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นฐานทัพในกับกองทัพสหรัฐฯ ในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการทิ้งระเบิดมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เวียดนามเหนือและใต้ (ซึ่งเวียดนามถูกทิ้งระเบิดรวมแล้วสี่เท่ามากกว่าระเบิดที่ถูกทิ้งทั่วโลกในสงครามโลกครั้งที่สอง) และเร็ว ๆ นี้ คือ ส่งทหารไปรับใช้รัฐบาลสหรัฐในสงครามในอิรัก

---

การศึกษาประวัติศาสตร์ควรมองจากหลายด้าน เพราะประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ ครั้ง ได้รับการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสชาตินิยมคับแคบ

ความศักดิ์สิทธิื์์์ืของพระนเรศวรก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันจากประวัติศาสตร์หลาย ๆ ด้าน รวมถึงข้อบันทึกของนักศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ศา่สนาในช่วงนั้น หรือ ประวัติศาสตร์ของพม่าที่ให้ข้อสังเกตว่า พระมหาอุปราชาไม่ได้เสียชีวิตจากพระปฎักและ พระนเรศวรมหาราชใช้ปืนยิงพระมหาอุปราชจนสวรรณคตหรือถูกปืินจากทหารฝั่งกรุงศรีอยุธยายิง โดยแตกต่างจากข้อสังเกตของประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยที่เชิดชูว่าพระนเรศวรได้ัสังหารพระมหาอุปราชาอย่างกล้าหาญ (ดูปาจารยสาร ฉบับ มีนาคม-มิถุนายน 2544)

ผมเคยคิดครั้งหนึ่งว่าสักวันหนึ่งประวัติศาสตร์ไทยจะถูกสอนอย่างรอบด้าน ไม่ต้องท่องจำ มีประวัติศาสตร์ที่ได้รับการมองจากหลายๆ มุม เหมือนหนังสือชื่อ "ประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวสหรัฐ" (The People"s History of the United States) ที่เขียนโดย Howard Zinn นักประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ที่ได้เขียนหนังสือ ที่นำมุมมองการมองประัวัิติศาสตร์จากชนชั้นล่าง คนชายขอบในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ อินเดียนแดง นักสังคมนิยม จนถึงแรงงานชาวแม็กซิกันมามองประวัติศาสตร์ ต่างจากประัวัติศาสตร์รัฐที่มองจากบนลงล่าง

เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว...ความฝันผมก็ยังอยู่ยาวไกลมาก

........................

อ้างอิง

1. "A People"s History of the United States" by Howard Zinn

เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน และได้รับการโจมตีต่อเนื่องจากนักประวัติศาสตร์ นักการเมืองอนุรักษ์นิยม หนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1492 - 2002 รวมถึง การก่ออาชญากรรมของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส กับชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง จนถึง การถูกริดรอนสิทธิของประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง หนังสือได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลหนังสือแห่งชาติปี 1980 (National Book Award)

2. ปาจารยสาร (ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 มีนาคม-มิถุนายน 2544)

ตีพิมพ์ครั้งแรกในประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์, 2 กันยายน 2007,
http://www.prachatai.com/journal/2007/02/11542

No comments: